"ผ้าปาเต๊ะ" เป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในคาบสมุทรมลายู คำว่า "ปาเต๊ะ" หรือ "บาติก(Batik)" เป็นคำในภาษาชวาใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำว่า "ติก" มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆ ผ้าปาเต๊ะจึงหมายถึงผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ ต่างๆ ซึ่งมาจากกรรมวิธีการทำผ้าปาเต๊ะที่จะใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีและใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี และพบว่ามีการทำผ้าปาเต๊ะใช้กันประมาณ 2000 ปีแล้ว สำหรับประเทศไทย บริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการทำผ้าโสร่งปาเต๊ะ โดยวิธีการพิมพ์ลวดลายด้วยเทียนลงบนผ้าเป็นอุตสาหกรรมกันมานาน สำหรับผู้หญิงใช้ตัดเสื้อและกระโปรง ส่วนผู้ชายนั้นนิยมตัดเป็นเสื้อแขนสั้น และลวดลายจะนิยมใช้ต้นแบบธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หรือรูปเรขาคริตต่างๆ
การผลิตผ้าปาเต๊ะในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอแว้ง จะใช้แรงงานของคนในชุมชนทุกขั้นตอนในการผลิต ซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน หากแต่งานการผลิตนั้นถือเป็นงานฝีมือ จึงต้องได้รับการส่งเสริมให้ความรู้และพัฒนาทักษะก็จะเพิ่มศักยภาพของการผลิตผ้าปาเต๊ะ และเป็นอีกช่องทางในการร่วมส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้มีการสืบทอดและพัฒนาต่อไป
วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสจึงเล็งเห็นความสำคัญในการยกระดับและพัฒนาฝีมือการทำผ้าปาเต๊ะในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอแว้ง จึงได้จัดกิจกรรมการออกแบบลวดลายผ้าปาเต๊ะและการผลิตต้นแบบแม่พิมพ์ ตามโครงการการจัดการพัฒนาศักยภาพผ้าปาเต๊ะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 28-1 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานหน่วยจัดการศึกษาอำเภอสุไหงโก-ลก วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส อาคารศูนย์อาหาร เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อการพัฒนาชุดหลักสูตรและพัฒนาทักษะการผลิตผ้าปาเต๊ะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจจังหวัดนราธิวาส อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอแว้ง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ และมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นประชาชนในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส